ตาเหิน ๒

Hedychium villosum Wall.

ไม้ล้มลุกหลายปี อิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน มักพบแตกกอค่อนข้างแน่น มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าค่อนข้างหนาและฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกกึ่งรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น แต่ละซอกใบประดับมี ๑-๓ ดอก ทยอยบานไปสู่ปลายช่อ ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ สีเขียวอมเหลือง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวยถึงรูปทรงกลม มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม

ตาเหินชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี อิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน มักพบแตกกอค่อนข้างแน่น มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าค่อนข้างหนาและฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า สูงได้ถึง ๑.๕ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๔-๘ ใบ รูปใบหอกกึ่งรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีขนหนาแน่น โดยเฉพาะตามเส้นกลางใบ เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน ส่วนใกล้โคนเป็นร่องลึกไปถึงก้านใบ นูนชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงค่อนข้างขนานกัน ก้านใบยาวประมาณ ๖ มม. หรือไร้ก้าน ลิ้นใบสีอมแดง เป็นเยื่อค่อนข้างบางและโปร่งแสง รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๓-๘.๕ ซม. ปลายค่อนข้างแหลม มีขนหนาแน่น กาบใบสีออกแดง ค่อนข้างหนาและอวบน้ำ มี ๓-๕ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ กาบที่อยู่เหนือขึ้นไปยาวได้ถึง ๑.๕ ม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๒-๓ ซม. มีขน ใบประดับที่โคนก้านช่อดอกหนาคล้ายแผ่นหนัง รูปคล้ายใบ ถัดขึ้นไปมีใบประดับจำนวนมากอยู่ห่าง ๆ แต่ละซอกใบประดับมี ๑-๓ ดอก ทยอยบานไปสู่ปลายช่อ สีอมแดงรูปรี กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๔.๕-๖.๕ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม มีขนหนาแน่น ใบประดับย่อยสีเขียวอมแดง รูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง กว้าง ๑.๕-๑.๘ ซม. ยาว ๒.๕-๕ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม มีขนสั้น ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๔.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกด้านเดียว ปลายสุดหยักซี่ฟัน ๒-๓ หยัก มีขนสั้นกระจายห่าง กลีบดอกสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๘.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๔ ซม. ปลายคุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร อับเรณูสีเหลือง กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๕-๖ มม. ก้านชูอับเรณูสีแดงอมส้ม ยาว ๔-๕ ซม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี ๓ เกสรที่อยู่ตรงกลางเชื่อมติดกันและเปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีขาวหรือสีนวล มีแต้มสีเขียวใกล้โคน รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๒.๒-๓ ซม. ปลายแยกเป็นแฉก ยาว ๔-๗ มม. โคนสอบเรียว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น อีก ๒ เกสรอยู่ข้างกลีบปากข้างละ ๑ เกสร แยกอิสระเป็นกลีบคู่ข้าง รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปแถบ กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอกสั้น กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๓-๔ มม. มีขนหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน ที่สมบูรณ์มี ๑ ก้านรูปคล้ายเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วย สีเขียว ขอบมีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์อีก ๒ ก้านลดรูปเป็นติ่ง ยาวประมาณ ๓ มม. ติดอยู่เหนือรังไข่

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ กว้างและยาว ๑.๓-๑.๖ ซม. สีเขียวอมเหลือง ผนังด้านในสีออกแดง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และ


กลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวยถึงรูปทรงกลม มีจำนวนมาก กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๐.๔-๑ ซม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม

 ตาเหินชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบอิงอาศัยบนต้นไม้หรือขึ้นบนซอกหินปูน ตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๘๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา จีน เวียดนาม และคาบสมุทรมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเหิน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hedychium villosum Wall.
ชื่อสกุล
Hedychium
คำระบุชนิด
villosum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ